ไม้เท้ายอดกตัญญู

อ่าน 1341 | ตอบ 0

“ไม้เท้ายอดกตัญญู”

ในสมัยพุทธกาล  นานกว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว  มีชายชราคนหนึ่ง หน้าตาหม่นหมอง  น่าสงสาร     แขนขามีแต่หนังหุ้มกระดูก เสื้อผ้าก็เก่า ขาดกระรุ่งกระริ่ง ตาก็บอด ถือไม้เท้าเดินคลำทางเปะปะไปตามถนน  สะพายซอเก่าๆไว้ที่บ่าขวา มือขวาถือไม้เท้า มือซ้ายถือกะลาสำหรับขอทาน
ชายชราคนนี้ เดิมทีแกเป็นคนร่ำรวย มีลูกถึง 7 คน แกเลี้ยงดูส่งเสียลูกให้มีการศึกษาดี  ได้แต่งงานมีครอบครัวแล้ว แกจึงได้แบ่งสมบัติให้ลูกทุกๆคน แต่ลูกของแกไม่มีใครรับเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะกลัวจะเป็นภาระ ต่างก็แยกกันไปอยู่คนละทิศละทาง จึงทำให้ต้องอยู่กันเพียงสองคนตายาย  หลายปีผ่านไปไม่เคยมีใครห่วงใยมาเยี่ยมพ่อแม่เลย คนน้องก็คิดว่าพี่ๆคงไปดูแล้ว ส่วนพี่ๆ ก็คิดว่าน้องๆคงดูแลแล้ว นี่แหละที่โบราณว่า “ลูกสิบคนพ่อแม่เลี้ยงได้ พ่อแม่เพียงสองคน แต่ลูกสิบคนเลี้ยงท่านไม่ได้
พ่อแม่ผู้อาภัพทั้งสอง อยู่กินกันไปอย่างว้าเหว่ ต่อมาบ้านของแกถูกไฟไหม้ ทุกอย่างวอดวายไปในกองเพลิง รวมทั้งเมียของแกด้วย ชายชราเสียใจมาก ต้องเที่ยวเร่ร่อนขอทาน โดยสีซอขับบรรเลงเพลงไปตามที่ต่างๆ จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปพบ พระผู้เป็นที่พึ่งของสัตว์โลก  ท่านจึงคิดอุบายให้ โดยแต่งเพลงให้บทหนึ่ง ให้แกไปขับร้องตามชุมชนต่างๆ

โอ้ อนิจจา ตัวเรา ยามเฒ่าแล้ว                  พวกลูกแก้ว ทอดทิ้ง ไม่เหลียวหา
หูก็หนวก ตาก็บอด      ซมซานมา                             ถือกะลา สีซอ ขอเขากิน
มีไม้เท้าอันเดียว เที่ยวเร่ร่อน                          ง่วงก็นอนข้างถนน บนกรวดหิน
เมื่อเป็นทุกข์ โอดครางกลางแผ่นดิน                      ยามจะกิน อาหารเศษ ทุเรศทรวง
ยามซวนเซ จะพลาด ล้มฟาดพื้น                 มีไม้เท้า ยันยืน ได้ยึดหน่วง
ฉันซูบผอม ตรอมใจ ตาลึกกลวง                            ไม่มีลูก คอยห่วง เอื้ออารี
โอ้มีลูก ลูกนั้น มันเนรคุณ                              ไม่เกื้อหนุน ทอดทิ้งให้หมองศรี
ยามฉันถูก ท่านไก่ไล่จิกตี                                       ไม้เท้านี้ ป้องภัย ไล่สัตว์พาล
ถูกวัวดุ ฟู่ฟู่ ขู่จะขวิด                                       มีไม้เท้า  เป็นมิตร คอยสงสาร
ใช้กวัดแกว่ง คอยรักษา  เป็นปราการ                   ยามข้ามธาร ไม้เท้านำฉันไป
เมื่อเดินทาง ไม้เท้า  บอกวิถี                         ไม้เท้านี้ ดีกว่าลูก  เป็นไหนไหน
คนเศษคน อกตัญญู ไร้น้ำใจ                                   มันทำได้ ใจหิน  สิ้นเมตตา

เสียงซอเศร้าๆ ที่ชายชรานั่งร้องขับคลอไปทั่ว  ทำให้ผู้คนทั้งหลายที่ได้ฟังแล้วเกิดความสงสารอย่างจับใจ หยิบเงินและอาหารมาช่วยเหลือแล้วนำไปวิจารณ์ ประณาม สาปแช่ง  ลูกเนรคุณเหล่านั้น  จนกระทั่งข่าวนี้แพร่ไปถึงลูกๆ ของแก ทำให้ลูกๆได้สำนึกผิด พากันมารับพ่อไปเลี้ยงดูเป็นอย่างดี

ความกตัญญู  กตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี  ลูกที่ดีมีความกตัญญูนั้นควรเลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความเอาใจใส่  โดยไม่ต้องให้พ่อแม่เรียกร้อง  ศิริมงคลก็จะเกิดกับตนเอง

เล่าเรื่อง  ออกแบบท่าทาง  ให้เสียงเหมือนจริง ร้องเพลงประกอบเรื่องโดย ด.ญ. ธนภรณ์พรรษ  นรจีน  โรงเรียนบ้านฉาง

ที่มาจาก http://www.krubanchang.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=416545&Ntype=2 

ความคิดเห็นของผู้เข้าชม
ชื่อผู้แสดงความคิดเห็น :
สถานะ : รหัสผ่าน :
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง :
รหัสความปลอดภัย :